ใบความรู้ที่ 1

ใบความรู้ที่ ๑ 
ความรู้เกี่ยวกับการเขียนเรียงความ

ความหมายของเรียงความ
เรียงความ ความหมายเฉพาะทาง หมายถึงการเขียนที่มีรูปแบบค่อนข้างชัดเจน คือประกอบด้วย คำนำ เนื้อเรื่องและสรุป

การเลือกเรื่องที่จะเขียนเรียงความ 

การเขียนเรียงความ ผู้เขียนควรเลือกเรื่องใกล้ตัว มีประสบการณ์ มีความรู้ในเรื่องนั้นเป็นอย่างดี หรือเรื่องที่ผู้เขียนสนใจที่จะศึกษาค้นคว้าสามารถรวบรวมความรู้ความคิดและจัดลำดับข้อความเป็นสำนวนภาษาของตนเองอย่างเหมาะสม

ประเภทของเรื่องที่จะเขียน 
พิจารณาจากจุดมุ่งหมายในการเขียน ซึ่งแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ
          ๑. เรื่องที่เขียนเพื่อความรู้ เป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์รวมทั้งหลักการตลอดจนข้อเท็จจริงต่างๆ ใช้วิธีเขียนบอกเล่าหรือบรรยายรายละเอียด
          ๒. เรื่องที่เขียนเพื่อความเข้าใจ เป็นการอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจความรู้ หลักการ หรือประสบการณ์ต่าง ๆ การเขียนเพื่อความเข้าใจมักควบคู่ไปกับการเขียนเพื่อให้เกิดความรู้
          ๓.  การเขียนเพื่อโน้มน้าวใจ  เป็นการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านเชื่อถือและยอมรับ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับอรรถรสทางใจให้สนุกสนาน เพลิดเพลินไปกับข้อเขียนนั้น ๆ


องค์ประกอบของเรียงความ  

มี ๓ ส่วน คือคำนำ เนื้อเรื่องและสรุป                                                                                      
  ๑.  คำนำ : เป็นส่วนแรกของเรียงความ ทำหน้าที่เปิดประเด็น ดึงดูดความสนใจ คำนึงถึงการนำเข้าสู่เนื้อเรื่องที่ตนจะเขียน เน้นศิลปะในการใช้ภาษา  
 ๒.  เนื้อเรื่อง : เป็นส่วนสำคัญและยาวที่สุดของเรียงความ ประกอบด้วย ความรู้ ความคิด และข้อมูลที่ผู้เขียนค้นคว้า และเรียบเรียงอย่างเป็นระบบระเบียบ
 ๓.  สรุป : เป็นส่วนสุดท้าย ผู้เขียนจะทิ้งท้ายให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ ใช้ข้อความที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจซึ่งการเขียนสรุปมีหลายวิธี เช่น ฝากข้อคิดและความประทับใจให้ผู้อ่าน ย้ำความคิดสำคัญของเรื่อง ชักชวนให้ปฏิบัติตาม ให้กำลังใจแก่ผู้อ่าน ตั้งคำถามที่ชวนให้ผู้อ่านคิดหาคำตอบ ยกคำพูด คำคม สุภาษิต หรือบทกวีที่น่าประทับใจ เป็นต้น

การวางโครงเรื่องก่อนเขียน
             การวางโครงเรื่อง เป็นการออกแบบจัดลำดับหัวข้อเรื่องที่จะเขียนให้สัมพันธ์ต่อเนื่องกันขึ้นอยู่กับแนวคิดหรือวิธีการของผู้เขียน เช่น
จัดลำดับหัวข้อจากหน่วยเล็กไปสู่หน่วยใหญ่
2. จัดลำดับหัวข้อตามช่วงเวลาที่เกิด

3. จัดลำดับตามความนิยม

การเขียนย่อหน้า
          ย่อหน้าหรืออนุเฉก คือ ข้อความตอนหนึ่งที่ประกอบด้วยประโยคหลายประโยค ประโยคเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันโดยมีใจความมุ่งแสดงความคิดสำคัญเพียงเรื่องเดียว
          ย่อหน้าเป็นส่วนหนึ่งของงานเขียนที่มีความสำคัญ การเริ่มย่อหน้าคือการเริ่มใจความสำคัญ เมื่อย่อหน้าครั้งหนึ่งๆ ข้อความบรรทัดแรก จะต้องเยื้องเข้ามาทางขวามือเล็กน้อยให้เป็นที่สังเกตได้ ความยาวของย่อหน้าไม่สามารถจำกัดได้แน่นอนตายตัวได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสำคัญของเนื้อหาที่นำมาเขียน ความยาวของย่อหน้ามีหลักกว้างๆ คือ ต้องยาวพอที่จะอธิบายความคิดได้ชัดเจนแต่ไม่ยาวจนมีความคิดหลายอย่างเข้ามาปะบนในย่อหน้านั้น ดังนี้ การย่อหน้า ยังช่วยให้ผู้อ่านได้พักสายตาอีกด้วย

หลักการเขียนย่อหน้า
          ถึงแม้จะไม่สามารถจำกัดความยาวในการเขียนย่อหน้า แต่ผู้เขียนก็ควรจะคำนึงถึงหลักกว้างๆ ในการเขียน ดังนี้

1. ย่อหน้าต้องยาวพอที่จะอธิบายความคิดได้แจ่มแจ้ง ต้องไม่สั้นจนกลายเป็นการนำหัวข้อมาเรียงๆ กัน โดยไม่อธิบายให้เห็นว่า หัวข้อนั้น สัมพันธ์กันอย่างไร และต้องไม่ยาวจนกระทั้งมีความคิดหลายความคิดปะปนกันไปหมด แต่ละย่อหน้าควรแทนความคิดสำคัญเพียง ความคิดเดียว ถ้าย่อหน้ายาวมากควรพิจารณาว่าจะแบ่งเป็นย่อหน้าย่อยลงได้อีกหรือไม่ อย่างไรก็ตามงานเขียนที่มีย่อหน้ามากไปจะทำให้การอ่านขาดความต่อเนื่อง ซึ่งมีผลต่อความเข้าใจเนื้อหา
๒. โดยทั่วไปย่อหน้ามีความยาวโดยประมาณ ๔ บรรทัด หรือ ๑๐๐ คำ เป็นอย่างน้อย แต่ไม่ควรเกิน ๘ หรือ ๑๐ บรรทัด หรือประมาณ ๒๐๐-๒๕๐ คำ ถ้ายาวกว่านั้น ควรพิจารณาว่าจะแบ่งย่อหน้าได้อีกหรือไม่ ย่อหน้าที่ไม่ยาวมากนักจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจความคิดได้ชัดเจน ว่าผู้เขียนต้องการพูดเรื่องอะไร เรื่องนั้นมีความคิดอะไรสนับสนุนบ้าง ที่เข้าใจได้ชัดเจนก็เพราะย่อหน้านั้นๆ มุ่งความคิดสำคัญความคิดเดียว และไม่ซับซ้อนการแบ่งย่อหน้าได้ดี จึงช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้ดียิ่งขึ้น
          ๓. ความสั้นยาวของแต่ละย่อหน้าในเรื่องหนึ่งๆ นั้นไม่ควรให้แตกต่างกันมากนัก เช่น ย่อหน้าแรก ๒๐ บรรทัด ย่อหน้าต่อไป ๕ บรรทัดบ้าง ๓ บรรทัดบ้าง เช่นนี้ จะไม่เกิดความงามและความสมดุล แต่มิได้หมายความว่าแต่ละย่อหน้าจะต้องมีความยาวขนาดเดียวกัน ความยาวของย่อหน้า ควรมีขนาด แตกต่างกันบ้าง แต่ไม่มากจนขาดความสมดุล ทั้งนี้เพราะย่อหน้าที่มีความสั้นยาวต่างกันอย่างเหมาะสม จะช่วยดึงดูดความสนใจผู้อ่านได้บ้าง

ย่อหน้าที่ดี
          ย่อหน้าที่ดีมีลักษณะสำคัญ ๔ ประการ คือ
     ๑. ความสมบูรณ์ ในแต่ละย่อหน้าต้องเขียนให้มีจุดหมาย เนื้อหา สาระสำคัญ รายละเอียด ส่วนขยายชัดเจน ไม่ออกนอกเรื่อง ไม่ยกตัวอย่างมาก เกินความจำเป็น เมื่ออ่านจบแล้ว ต้องได้ความบริบูรณ์ เหมือนอ่านเรียงความสั้นเพียง ๑ เรื่อง เพราะย่อหน้าก็คือ ความเรียงอย่างย่อเรื่องหนึ่ง
๒. เอกภาพ หมายความว่า ข้อความแต่ละย่อหน้า จะต้องเขียนให้มีความคิด หรือใจความสำคัญเพียงประการเดียว ไม่เปลี่ยนความคิด หรือจุดมุ่งหมาย เป็นหลายอย่างใน ย่อหน้าเดียว
๓. สัมพันธภาพ คือ การเรียบเรียงข้อความในย่อหน้าให้เกี่ยวโยง ต่อเนื่องกัน เกิดความสัมพันธ์กัน เมื่ออ่านแล้วสละสลวยรื่นหู ทำให้แนวความคิด ติดต่อกัน ผู้อ่านสามารถติดตามได้ง่าย

๔. สารัตถภาพ คือ มีการเน้นย้ำใจความสำคัญ กล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างได้เนื้อหาสาระ ได้ใจความที่ชัดเจนเพียงพอ การเน้นย้ำใจความสำคัญนั้น อาจทำได้โดยการวางตำแหน่งของประโยคใจความสำคัญ ไว้ตอนต้นย่อหน้า หรือท้ายย่อหน้า ทั้งนี้เพราะผู้อ่านมักจะให้ความสนใจกับ ประโยคเริ่มต้น และประโยคลงท้าย

ตัวอย่างเรียงความ 
เรียงความชนะเลิศรางวัลที่ ๑ ประจำปี ๒๕๔๖ เนื่องในวันแม่ ๑๐ ส.ค. ๔๖ ที่พุทธสถานสันติอโศก
ผู้เขียน ด.ญ.จันทรามาศ(ปลา) ประดิษฐพล  นักเรียนชั้น ม. ๓ โรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก

แม่
           ความรักของแม่นั้นยิ่งใหญ่เสมอสำหรับข้าพเจ้า ไม่มีใครในโลกนี้อีกแล้วที่จะรักเรายิ่งกว่าชีวิต รักชั่วนิรันดร์และยอมทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อลูก ให้อภัยลูก แม้ว่าลูกจะทำผิดมาสักกี่ครั้งก็ตาม เป็นความรักที่อยู่เหนือกาลเวลาและเหนือเหตุผลอื่นใด แม่มีความรักให้ลูกมีเยื่อใยระหว่างแม่และลูกที่ไม่สามารถตัดขาดได้ แม่เป็นแม่ที่ดีของลูกอยู่เสมอ 
           นับตั้งแต่ ข้าพเจ้าจำความได้ ข้าพเจ้านับได้ไม่กี่ครั้งเลยด้วยซ้ำ กับการได้เห็นหน้าคนที่ขึ้นชื่อว่า "แม่" ตั้งแต่เล็กจนโตข้าพเจ้าจะได้อยู่กับอา ปู่ และย่ามากที่สุด จนจะคิดว่าเขาเป็นพ่อ-แม่ เราอยู่แล้ว แต่จนมาวันหนึ่งแม่ก็ได้มาเยี่ยมข้าพเจ้า มาถามว่าข้าพเจ้าอยู่นี่เป็นอย่างไร มีความสุขไหม แต่ข้าพเจ้า ก็ตอบ ความเป็นจริง อย่างที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าสนุกและมีความสุขเมื่อได้มาอยู่ที่นี่แต่รู้หรือไม่ว่าแม่ของข้าพเจ้ามาพร้อมกับใคร มากับคนที่จะขึ้นชื่อได้ว่าเป็น "พ่อ" หรือ "พ่อเลี้ยง" ของข้าพเจ้าและลูกคนใหม่ของเขา ที่จริงก็นับว่าเป็นน้องของข้าพเจ้าเช่นกัน เฮ้อ! เหนื่อยใจกับชีวิตของข้าพเจ้าจริง...จริง นับตั้งแต่วันนั้นที่ข้าพเจ้าได้เจอกับแม่ ก็ทำให้ข้าพเจ้ามีคำถามคอยถามตัวเองมาตลอดว่า ทำไม...ทำไม แล้วก็ทำไม? เราถึงไม่มีครอบครัวที่อยู่กันอย่างมีความสุขและอบอุ่น ได้อยู่กัน พร้อมหน้าพร้อมตาแบบคนอื่นบ้างนะ บางครั้งข้าพเจ้าก็รู้สึกน้อยใจที่แม่ของข้าพเจ้าแบ่งความรักที่เต็มร้อยให้กับน้องที่ข้าพเจ้าไม่มีความรู้สึกที่ว่าเขาเป็นน้องของข้าพเจ้าเลย และทุกครั้ง ที่แม่โอบกอดน้อง มันทำให้คิดถึงข้าพเจ้าตอนเด็กๆที่ไม่เคยมีแม่คนนี้มาโอบกอดเลยและทุกครั้งที่เห็นแม่และน้อง ไปเที่ยวด้วยกัน ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนว่าเป็นส่วนเกินของครอบครัวนี้ เป็นลูกนอกคอกที่ใครต่อใครไม่ต้องการ ข้าพเจ้าถามตัวเอง ตลอดเวลาว่า ข้าพเจ้าเป็นลูกเขาหรือเปล่าหรือเป็นลูกใครกันแน่
             มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มันทำให้ข้าพเจ้ารู้แน่ๆว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่ลูกของเขา มันคือความคิดที่คิดในเวลานั้น เขายอมยกข้าพเจ้าให้กับอาเพียงแค่เงินไม่กี่บาท ข้าพเจ้าอยากถามทุกคนว่า นี้หรือความรักของแม่ที่มีให้ต่อลูกระยะเวลา ๑๑ ปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าไม่เคยได้รับความรักจากผู้เป็นแม่ ได้รู้จักแต่ความรักที่อาหยิบยื่นมาให้ด้วยความรักที่เต็มร้อย ข้าพเจ้าเขียนและอ่านคำว่าแม่ได้ แต่ข้าพเจ้าไม่รู้จักความหมายและไม่เคยเห็นตัวตน วันที่ข้าพเจ้ารู้สึก"เจ็บ" และอยากร้องไห้และอยากตะโกนให้โลกรู้ว่า "ข้าพเจ้าเกลียดแม่" เป็นวันที่ ข้าพเจ้าต้องไปจับฉลากเตรียมขึ้น ม.๑ อาของข้าพเจ้าบอกกับแม่ว่า ไปให้ กำ-ลัง-ใจ ปลาหน่อยซิ  ตอนนั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่าตื่นเต้นและดีใจมาก ว่าแม่ของข้าพเจ้าจะต้องไปให้ กำ-ลัง-ใจ แน่ๆเลย มันเป็น ความระทึกใจที่ไม่มีอะไร จะเปลี่ยนแปลงได้ แต่สิ่งที่แม่ข้าพเจ้าเอ่ยปากออกมาว่า "ไม่ไปหรอก มันจะเป็นอย่างไรก็ช่าง สอบได้-ไม่ได้ ก็ช่างหัวมัน" ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าไม่อยากไปจับฉลากแล้ว ความรู้สึกที่ปวดร้าว น้ำตาที่อยากจะรินไหลออกมา ในตอนนั้นอยากให้แม่ได้รู้ว่าข้าพเจ้าหวังเพียงสักครั้ง ที่จะให้แม่เข้ามาโอบกอดข้าพเจ้า และถามว่าสบายดีไหม? แต่...ไม่มีเลย แม้แต่เสียงที่เปล่งออกมา จากหัวใจของแม่ แต่แล้วพอข้าพเจ้าลงจากเวทีการจับฉลาก ข้าพเจ้าเห็นผู้หญิงคนแรก ที่มายืนต่อหน้าข้าพเจ้า ไม่ใช่ใครเลย คนๆ นั้น คือ "แม่" ของข้าพเจ้านั่นเอง ความรู้สึกตอนนั้นของข้าพเจ้า เหมือนโลกสดใสงดงามขึ้นกว่าเดิม ข้าพเจ้า มีความรู้สึกเข้าใจแม่มากจนข้าพเจ้าได้เข้ามาเรียนโรงเรียนแห่งนี้
            จนเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าอยากกราบขอโทษแม่ที่คิดไม่ดีและไม่เข้าใจในแต่ก่อน คือตอนที่ข้าพเจ้า มีดบาดและต้องผ่าตัดต่อเส้นเอ็น ข้าพเจ้าได้โทร.ไปหาแม่ บอกแม่ว่า ข้าพเจ้าต้องผ่าตัด เสียงที่แม่ พูดออกมาสั่นเครือเหมือนน้ำตาแม่จะไหล แค่ได้รู้ว่าแม่ห่วงใยข้าพเจ้า แค่นี้ก็ทำให้ข้าพเจ้าดีใจแล้ว หลังจากนั้น ไม่กี่วัน ข้าพเจ้ารู้ว่าวันที่ข้าพเจ้าเข้าห้องผ่าตัดและวันที่แม่รู้เหตุการณ์ แม่ร้องไห้ แทบจะ เป็นลมล้มพับลงกับพื้น ในเวลานั้นข้าพเจ้าอยากวิ่งออกมาจากห้องผ่าตัด แล้วมากอดแม่ และทุกครั้ง ที่ข้าพเจ้าถามแม่ว่า ตอนที่ข้าพเจ้าเข้าห้องผ่าตัดแม่ร้องไห้เหรอ แต่แม่กลับตอบว่า "เปล่า! ไม่ได้ร้องไห้ ฝุ่นมัน เข้าตาเฉยๆ" นับตั้งแต่วันนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจความรักของแม่ จนถึงทุกวันนี้
             วันแม่ปีนี้อยากบอกแม่คำเดียวว่า "รักแม่" แม้เป็นเพียงคำสั้นๆแต่ก็ออกมาจากหัวใจของลูกคนนี้ และจะ "รักแม่" ตลอดไปค่ะ
     แม่จ๋า...จากนี้ลูกจะรัก         จะฟูมฟักความสัมพันธ์ที่ฝันหา
จะหวงแหนทุกนาทีทุกเวลา        ที่มีค่าตอนเราอยู่ด้วยกัน                                 
จะถนอมความสัมพันธ์เพื่อพันผูก   จะร่วมปลูกต้นรักถักความฝัน 
จะร่วมร้อยถ้อยเรียงเคียงคู่กัน      เป็นมาลัยจากฉันสู่แม่เอย                            

 (สารอโศก อันดับทื่ ๒๖๒ กรกฎาคม ๒๕๔๖)

รายการอ้างอิง
....................................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น